21/09/2012 05:46 เมื่อ 21/09/2012
อ่าน 1882
| ตอบ 2
สาระที่ 4 การอาชีพ
มาตรฐาน ง 4.1 เข้าใจ มีทักษะที่จำเป็น มีประสบการณ์ เห็นแนวทางในงานอาชีพ ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาชีพ มีคุณธรรม และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพ
ตัวชี้วัด ข้อที่ 1 อธิบายแนวทางการเลือกอาชีพ
หน่วยการเรียนที่ 3 เรื่อง หลักการและวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและนำทักษะเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ได้ จัดทำสื่อสำหรับการประชาสัมพันธ์แบบง่าย ๆ ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานต่าง ๆ ได้ มีเจตคติที่ดีในการทำงาน รักชาติศาสน์กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัยใฝ่เรียนรู้อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
จุดประสงค์การเรียนรู้
ด้านความรู้ (K) เพื่อให้นักเรียนสามารถ
1. อธิบายหลักการประชาสัมพันธ์ได้
2. บอกวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์ได้
3. อธิบายวิธีการวางแผน ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์ได้
ด้านเจตคติ ด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์ (A) เพื่อให้นักเรียนมี
1. พละ 5 คือธรรมอันเป็นกำลังให้สำเร็จกิจตามปรารถนาได้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
2. มีคุณธรรมรักชาติศาสน์กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัยใฝ่เรียนรู้อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ
3. มีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต และ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ด้านทักษะและกระบวนการ (P) เพื่อให้นักเรียนสามารถ
1. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักการและวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์
2. ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สามารถนำทักษะเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. ความสามารถในการสื่อสาร
2. ความสามารถในการคิด
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
________________________________________________________________________________________________________
บทที่ 3
เรื่อง หลักการและวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์

หลักการพื้นฐานของการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ คือองค์กรจะต้องมีนโยบายที่ดีในการดำเนินงาน รวมทั้งมีการประพฤติปฎิบัติที่ดีต่อประชาชนและคำถึงนึงผลประโยชน์ของประชาชน (Public interest) เป็นหลัก ซึ่งผู้บริหารองค์กรจะมีส่วนอย่างมากในการนำองค์กรไปสู่การยอมรับและสนับ สนุนจากประชาชน โดยผู้บริหารจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในความรู้สึกนึกคิดและความต้อง การของประชาชน แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมากำหนดเป็นนโยบายในการดำเนินการที่เหมาะสม รวมทั้งจะต้องเผยแพร่ชี้แจงถึงนโยบายและการดำเนินงานให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ เกิดความเข้าใจ มีความนิยมชมชอบและให้การสนับสนุนกับองค์กร
หลักการประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์มีหลักใหญ่อยู่ ๓ ประการ ได้แก่
๑.การบอกกล่าวหรือชี้แจงเผยแพร่ให้ทราบ
การบอกกล่าวหรือชี้แจงเผยแพร่ให้ทราบนี้ คือการชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงนโยบาย วัตถุประสงค์ การดำเนินงาน และผลงาน ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนข่าวคราวความเคลื่อนไหวขององค์กร ให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานแห่งความเข้าใจในตัวองค์กร ทำให้เป็นที่รู้จัก เข้าใจ และเลื่อมใส ตลอดจนทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกที่เป็นไปในทางที่ดีต่อองค์กร
๒. การป้องกันและแก้ไขความเข้าใจผิด
๒.๑ การป้องกันความเข้าใจผิด ทางด้านวิชาการประชาสัมพันธ์ถือการประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกัน ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะการป้องกันไว้ก่อนย่อมมีผลดีกว่าที่จะต้องแก้ไขภายหลัง ฉะนั้นการป้องกันการเข้าใจผิดจึงเป็นการกระทำที่ป้องกันมิให้กลุ่มประชาชน ที่เกี่ยวข้อง เกิดความเข้าใจผิดในองค์กรได้ ทั้งนี้ความเข้าใจผิดอาจเกิดขึ้นได้เสมอและเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ความเข้าใจผิดในนโยบาย วัตถุประสงค์ และการดำเนินงานขององค์กร การป้องกันการเข้าใจผิดจึงเป็นงานในหน้าที่ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องพยายามค้นหาสาเหตุที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดเพื่อที่จะ หาทางป้องกันไว้เสียก่อน ก่อนที่จะมีความผิดจริงๆ ในลักษณะนั้นๆ เกิดขึ้น
๒.๒ การแก้ไขความเข้าใจผิด บ่อยครั้งที่นักประชาสัมพันธ์พยายามและระมัดระวังป้องกันความเข้าใจผิด แต่ความเข้าใจผิดอาจเกิดขึ้นได้เสมอในคนหมู่มาก ฉะนั้นเมื่อองค์กรประสบปัญหาดังกล่าว คือ เมื่อมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับองค์กรเกิดขึ้นในกลุ่มประชาชนแล้ว จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน อย่างเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ มิฉะนั้นอาจเกิดผลเสียกระทบกระเทือนต่อองค์กรได้ ความเข้าใจที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอในหมู่ประชาชนก็คือ ความเข้าใจผิดที่ได้รับมาจากกลุ่มบุคคล เพื่อนฝูงที่สนทนากัน หรือยังอาจเกิดจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนที่ลงข่าวตำหนิติเตียนหรือ ผาดพิงมาถึงองค์กร เป็นต้น
๓. การสำรวจประชามติ
หลักที่สำคัญของการประชาสัมพันธ์อีกประการหนึ่งคือ จะต้องมีการสำรวจวิจัยประชามติ เพราะองค์กรจะประชาสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องรู้ซึ้งถึงความ รู้สึกนึกคิดของประชาชน หรือที่เราเรียกว่า ประชามติ (Public Opinion) จะต้องทราบว่าประชาชนต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร ตลอดจนท่าทีต่างๆ ที่ประชาชนมีต่อองค์กร ซึ่งจะทราบได้จากการสำรวจวิจัยประชามติ เพื่อองค์กรจะสามารถตอบสนองสิ่งต่างๆ ให้สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
การสำรวจประชามติจึงเป็นสิ่งจำเป็นคู่กับการประชาสัมพันธ์ หากหน่วยงานใดกระทำการประชาสัมพันธ์โดยปราศจากการพิจารณาถึงประชามติแล้ว หน่วยงานนั้นอาจจะต้องประสบความล้มเหลว และสิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
วัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ โดยทั่วไปมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญพอสรุปได้ ๓ ประการ ดังนี้
๑.เพื่อสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ความนิยม (Good will) จากประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานและความอยู่รอดขององค์กร จึงมีความเป็นในการสร้างความนิยมให้เกิดในหมู่ประชาชนหรือกลุ่มประชาชนที่ เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วยการปลุกกระตุ้นเพื่อสร้างและดำรงไว้ซึ่งความเชื่อถือและศรัทธา จากประชาชน ให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสในนโยบายและการดำเนินกิจการต่างๆ ขององค์กร ทำให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปด้วยความสะดวกราบรื่น และบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร
๒. เพื่อปกป้องและรักษาชื่อเสียงขององค์กร ชื่อเสียงขององค์กรนับเป็นสิ่งสำคัญมาก หน่วยงานบางแห่งยอมที่จะสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลไปเพื่อแลกกับชื่อเสียงของ หน่วยงานนั้น เพราะชื่อเสียงขององค์กรย่อมเกี่ยวพันกับภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย หากมีชื่อเสียงไปในทางลบภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นๆ ย่อมเป็นไปในทางลบเช่นกัน ประชาชนอาจเกิดความรังเกียจ ชิงชัง ไม่อยากให้ความร่วมมือกับองค์กรนั้นได้ ดังนั้นองค์กรทุกแห่งจึงต้องพยายามปกป้องและรักษาชื่อเสียงของตนไว้ให้ดี เสมอ จะต้องมีการดำเนินงานที่ซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา และมีความประพฤติที่ดี รวมทั้งจะต้องมีการแสดงออกถึงความมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
๓. เพื่อสร้างความสัมพันธ์ โดยทั่วไปอาจแบ่งตามลักษณะงานกว้างๆ ได้ ๒ ประเภท ได้แก่
๓.๑ การประชาสัมพันธ์ภายใน (Internal public relations) คือ การสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับกลุ่มบุคคลภายในองค์กรให้เกิดมี ความรักใคร่ กลมเกลียว สามัคคีในหมู่เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ และความจงรักภักดีต่อหน่วยงาน ซึ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากหากการประชาสัมพันธ์ภายในยังไร้ประสิทธิภาพ ก็จะมีผลสะท้อนไปกับการสร้างความสัมพันธ์ภายนอกด้วย สำหรับสื่อที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ภายใน นั้น อาจเป็นแบบซึ่งหน้า (Face to Face) หรืออาจใช้สื่อสิ่งพิมพ์ภายในองค์กรต่างๆ
๓.๒ การประชาสัมพันธ์ภายนอก (External public relations) คือการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับประชาชนกลุ่มต่างๆ อันได้แก่ ประชาชนทั่วไป และประชาชนที่องค์กรมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ผู้นำท้องถิ่น ลูกค้า รวมทั้งชุมชนละแวกใกล้เคียง เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ นี้ เกิดความรู้ ความเข้าใจในตัวองค์กรและให้ความร่วมมือกับองค์กรด้วยดี
ปัจจุบันประชาชนจำนวนมากยังขาดแคลนข่าวสารต่างๆ จากองค์กรทำให้ไม่ทราบถึงนโยบาย วัตถุประสงค์ และการดำเนินงานขององค์กร ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในตัวสถาบันได้ง่าย ช่องว่างระหว่างองค์กรและประชาชนยังคงมีอยู่เสมอ การประชาสัมพันธ์จะช่วยลดช่องว่างเหล่านี้ โดยการสร้างความเข้าใจร่วมกันบนพื้นฐานของความจริงและการได้รับข่าวสารอย่าง สมบูรณ์
|